ประวัติ

 

ประวัติสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

                สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดลฯ รัชกาลที่ 8 แห่งราชวงศ์จักรี ให้อยู่ใน “พระบรมราชูปถัมภ์” เนื่องด้วยพระองค์ท่านได้ทรงเห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมให้ประชาชนชาวไทยได้มีความรู้เรื่องการเลี้ยงไก่อย่างแท้จริง จึงได้ทรงให้การสนับสนุนและส่งเสริมการจัดตั้งสมาคมฯ โดยมี จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

                สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์  ได้เริ่มก่อตั้งและทำพิธีเปิดป้ายเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 โดยการก่อตั้งสมาคมฯ เริ่มต้นจากมีผู้เลี้ยงไก่ส่วนหนึ่ง ซึ่งมีจำนวนประมาณ 120 คน ได้มาร่วมประชุมกันเป็นครั้งแรก ที่กรมเกษตรและการประมง ในการประชุมครั้งนั้นมีการลงมติเป็นเอกฉันท์ให้จัดตั้งเป็นสมาคมตามกฎหมาย และได้รับความอุปการะจากส่วนราชการที่เกี่ยวข้องให้ใช้สถานที่ของกรมเกษตรและการประมง ที่ตำบลวัดเลียบ เป็นที่ตั้งสำนักงานของสมาคมฯ

                ต่อมาในปี พ.ศ.2485 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งกรมปศุสัตว์ขึ้นอีกกรมหนึ่งในสังกัดกระทรวงเกษตรฯ โดยที่กรมปศุสัตว์มีหน้าที่เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ รวมทั้ง “ไก่” อยู่ด้วย สมาคมฯ จึงได้ย้ายสำนักงานมาขอความอุปการะอยู่กับกรมปศุสัตว์ ที่ตำบลพญาไท ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๔๘๕ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๔ และได้ย้ายมาอยู่ที่ฟาร์มไก่หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ภาควิชาสัตวบาล คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จนถึงปัจจุบัน

                สมาคมฯ ได้วางรูปแบบการบริหารงาน โดยมีการเลือกตั้งกรรมการขึ้นมาคณะหนึ่ง จำนวน 18 คน แบ่งอำนาจหน้าที่             ตามข้อบังคับของสมาคมฯ โดยมีอธิบดีกรมปศุสัตว์กรุณาให้เกียรติเป็นนายกสมาคมฯ   อยู่หลายสิบสมัย กรรมการทุกท่านไม่มี      เงินเดือน ทุกคนสละเวลามาช่วยงานด้วยใจอาสาอย่างเต็มกำลังความสามารถ วางแผนงานเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงไก่ออกสู่ชนบท พร้อมโฆษณาประชาสัมพันธ์การเลี้ยงไก่ และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนนิยมบริโภคไข่ไก่ ตามนโยบายของรัฐบาลในสมัยนั้น ควบคู่ไปกับการทำสวนครัว เลี้ยงสัตว์หลังบ้านจนเป็นที่นิยมแพร่หลาย

                คนไทยเริ่มต้นการเลี้ยงไก่อย่างไร?

                การเลี้ยงไก่ในสมัยก่อนนั้น คือ ไก่แจ้, ไก่อู, ไก่ตะเภา การเลี้ยงเป็นไปตามบุญตามกรรม ไม่มีการสนับสนุนส่งเสริม นอกจากชาวบ้านเอาไปชนกันสนุกๆ ในชนบทยามว่างงานจากการทำไร่ทำนา เป็นอยู่อย่างนี้นับเป็นเวลาร้อยๆปีมาแล้ว จนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปิยะมหาราช ราว พ.ศ.2446 พระองค์ท่านได้ทรงริเริ่มส่งเสริมการเลี้ยงไก่แบบสมัยใหม่ โดยได้ทรงสั่งไก่พันธุ์เล็กฮอร์น(ขาว), พันธุ์โรดไอร์แลนด์(แดง), พันธุ์บาร์พลีมัทร็อค เป็นต้น มาทรงเลี้ยงโดยมีกระทรวงเกษตรเป็นหน่วยงานที่ให้การสนับสนุน

                ต่อมา หม่อมเจ้าสิทธิพร  กฤดากร ผู้สร้างฟาร์มบางเบิด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้สั่งไก่พันธุ์เล็กฮอร์นเข้ามาขยายพันธุ์ จนมีไก่ประมาณ 500 ตัวเศษ และสร้างฟาร์มแบบเป็นการค้า ในสมัยนั้นประชาชนก็ยังไม่ค่อยนิยมกินไข่ ไข่ที่กินส่วนมากมาจากซัวเถา เมืองจีน และมาจากไก่พื้นเมือง ซึ่งไข่ได้ปีละประมาณ 50 ฟอง ดังนั้นไข่จากฟาร์มบางเบิดซึ่งไข่ได้ประมาณปีละ 300 ฟอง ตลาดในกรุงเทพฯก็รับซื้อไม่หมด หม่อมเจ้าสิทธิพร  กฤดากร ก็เลยเลี้ยงไก่มากกว่า 500 แม่ไม่ได้ ราคาไข่ในขณะนั้นมีราคาเพียงฟองละ 3 – 5 สตางค์เท่านั้น ส่วนราคารำละเอียดราคากิโลกรัมละ 1 สตางค์เศษๆ ไม่เกิน 2 สตางค์

                จนกระทั่ง พ.ศ. 2467 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้เริ่มการเลี้ยงไก่ที่โรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรม บางสะพานใหญ่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ โดยนำไก่จากฟาร์มบางเบิดมาเลี้ยง หลังจากนั้นโรงเรียนฝึกหัดครูได้ย้ายจากสะพานใหญ่ไปอยู่ทับกวาง อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี กิจการเลี้ยงไก่ก็ได้ย้ายตามและขยายใหญ่ขึ้น จนมีแม่ไก่ถึง ๑,๕๐๐ ตัว นอกจากผลิตขายแล้ว ยังมีการขยายพันธุ์ ตัวผู้ ๑ ตัว ตัวเมีย ๔ ตัว เรียกในสมัยนั้นว่า “๑ เล้า” เพื่อเป็นการเผยแพร่การเลี้ยงไก่ไปอีกด้วย แต่การเลี้ยงไก่ต้องเลิกไปเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เนื่องจากกระทรวงเกษตรและกระทรวงศึกษาธิการได้ตกลงย้ายโรงเรียนฝึกหัดครูประถมกสิกรรมแยกย้ายไปอยู่ตามภาคต่างๆ

                ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๗ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้วางนโยบายและเริ่มส่งเสริมการเลี้ยงไก่อีกครั้งหนึ่ง โดยสร้างความนิยมให้เกิดขึ้นก่อนโดยการจัดให้มีการแสดงพันธุ์ไก่ แสดงการเลี้ยงไก่ และการประกวดการเลี้ยงไก่ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ ติดต่อกันเป็นเวลา ๒ – ๓ ปี จนประชาชนเกิดความศรัทธาและเชื่อมั่นในการเลี้ยงไก่เพิ่มมากขึ้น ในขณะเดียวกันท่านได้พยายามเผยแพร่ความรู้เรื่องไก่ทางหนังสือพิมพ์กสิกร ทางวิทยุกระจายเสียงประจำสัปดาห์ โดยตั้งเป็นโรงเรียนทางวิทยุกระจายเสียงเผยแพร่ความรู้ติดต่อกัน และเริ่มให้มีการเลี้ยงไก่เป็นตัวอย่างขึ้นที่บางเขน โดยสั่งพันธุ์ไก่จากประเทศออสเตรเลีย อังกฤษ ญี่ปุ่น ฮอลันดา ฟิลิปปินส์ และเดนมาร์ก เข้ามาทดลองเป็นเวลาหลายปี จนราว พ.ศ. ๒๔๘๑ จึงได้ “ไก่ดีปานกลาง” ในระยะนี้ประชาชนนิยมเลี้ยงไก่กันมากขึ้น แต่มุ่งไปหาไก่ที่มีขนสวยงามมาเลี้ยง เช่น บัฟเล็กฮอร์น บัฟออมิงตัน และบาร์พลีมัทร็อค ส่วนไก่เศรษฐกิจ พันธุ์เล็กฮอร์นขาว โรคไอร์แลนด์แดง ก็มีอยู่ แต่ไม่เป็นที่แพร่หลาย

                ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒ มีโรคระบาดอย่างรุนแรงเกิดขึ้น ทำให้ไก่ที่เลี้ยงกันอยู่ตายเกือบหมด จึงทำให้การเลี้ยงไก่ต้องชะงักไปอีกระยะหนึ่ง สาเหตุเนื่องจากการขาดวัคซีนป้องกันโรคนิวคลาสเซิล โรคฝีดาษและโรคอหิวาห์ตกโรค

                จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๙ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้เริ่มต้นสนับสนุนให้มีการเลี้ยงไก่อีกครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัย-เกษตรศาสตร์ จากไก่เพียงไม่กี่ตัว ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๒ ได้เริ่มสั่งไก่พันธุ์เล็กฮอร์นขาว กับโรดไอร์แลนด์แดง จากสหรัฐอเมริกา และสั่งไก่อ๊อสตราลอปจากออสเตรเลียมาทำการทดลองต่อไปเพื่อเป็นอาชีพ และในที่สุดก็ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลในสมัยนั้น คือ จอมพล ป.พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี และจอมพลผิน ชุณหวัณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร ซึ่งเป็นประธานการส่งเสริมปศุสัตว์แห่งชาติ ต่อมารัฐบาลให้เงินจากค่าพรีเมียมข้าวมาเป็นทุนหมุนเวียนในการส่งเสริมการเลี้ยงไก่ เพื่อเป็นการเลี้ยงแบบอุตสาหกรรม  เป็นฟาร์มอาชีพตัวอย่างในบริเวณมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้มีการสั่งไก่พันธุ์ต่างๆ มาทดลองเลี้ยงกันเป็นจำนวนมากขึ้น อีกทั้งยังมีการให้ทุนเพื่อส่งเสริมการเลี้ยงไก่ให้ผู้เลี้ยงไก่กู้เงินไปทำทุน ช่วยให้นักเลี้ยงไก่สามารถยึดเป็นอาชี มีโอกาส        ขยายไก่ของตนเพิ่มมากขึ้น ในระยะหลังซึ่งได้มีการจัดตั้งสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์แล้วนั้น สมาคมฯ จัดให้มีการแข่งขันแม่ไก่ไข่ดก โดยได้รับความร่วมมือจากกรมปศุสัตว์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อสนับสนุน ปรับปรุง ส่งเสริมอาชีพเลี้ยงไก่ให้มีความเจริญรุ่งเรือง

                “นับว่า หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ท่านเป็นผู้บุกเบิกอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ด้วยระบบประชาสัมพันธ์ทางวิทยุกระจายเสียงทุกวัน เพราะท่านได้เล็งเห็นถึงประโยชน์การเลี้ยงไก่ จึงพยายามทุกรูปแบบเพื่อส่งเสริม สนับสนุน ให้ประชาชนสนใจ เรื่องการเลี้ยงไก่ เพิ่มมากขึ้น”

                สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้เลี้ยงไก่ในประเทศไทย จึงยกย่อง หลวง-สุวรรณวาจกกสิกิจ เป็นเสมือน “บิดา” ของคนเลี้ยงไก่ และมีความเคารพนับถือท่านเป็นอย่างมาก เพราะท่านเป็นผู้ให้ความรู้ในเรื่องการเลี้ยงไก่ทุกอย่าง รวมทั้งสอนวิธีขายและหลักการโฆษณาประชาสัมพันธ์ อันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชนในการนำไปประยุกต์เป็นอาชีพ เลี้ยงดูตนเองและครอบครัวสืบต่อไป

                สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยฯ กับแนวคิด “เศรษฐกิจพอเพียง”

                สมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นสมาคมฯ ที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อส่งเสริมเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ ให้มีความรู้ความสามารถในการเลี้ยง การปรับปรุงพันธุ์ ให้อยู่ในมาตรฐานที่ดี และมีความเจริญก้าวหน้า โดยการสนับสนุนให้กิจการอุตสาหกรรมการเลี้ยงไก่   ของประเทศมีคุณภาพตามความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

                แต่ดังที่ทราบดีว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ทั้งไก่เนื้อและไก่ไข่ในอดีตและปัจจุบัน ต่างก็ประสบปัญหาในการประกอบอาชีพ  แตกต่างกัน ในอดีตที่ผ่านมาเกษตรกรต้องเผชิญกับการขาดองค์ความรู้ มีการลองผิด ลองถูก ซึ่งบางรายก็ประสบความสำเร็จ แต่มีหลายรายที่ต้องประสบกับการขาดทุนและล้มเลิกอาชีพนี้ไป แตกต่างจากปัจจุบันที่เกษตรกรมีความรู้เพิ่มมากขึ้น แต่ปัจจัยในการเลี้ยงและการผลิตหลายประการมีความผันผวนอยู่ตลอดเวลา เช่น การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนก ภัยธรรมชาติ ค่าน้ำมัน ค่าเงินบาท สภาวะเศรษฐกิจในประเทศและต่างประเทศ ฯลฯ สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้เกษตรกรต้องประสบปัญหาอย่างต่อเนื่อง

                ปัญหาเหล่านี้ สมาคมฯ ตระหนักดีถึงความเดือดร้อนของพี่น้องเกษตรกร เพราะนอกจากปัญหาภายในครัวเรือนแล้ว ยังต้องเผชิญกับปัจจัยภายนอกที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องไม่มีวันจบสิ้น สมาคมฯ จึงได้นำแนวคิด “แบบเศรษฐกิจพอเพียง” ถ่ายทอดสู่พี่น้องเกษตรกรโดยใช้หลัก LOW COST (การลงทุนต่ำ) และ HIGH CLASS (ผลผลิตมีประสิทธิภาพสูง)  เพื่อดำเนินรอยตามพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระบรม-ชนกาธิเศร มหาภูมิพลอดุลเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (รัชกาลที่ 9) นอกจากนั้น สมาคมฯ ได้มีการ     ส่งเสริม สนับสนุนเกษตรกรให้สามารถผลิตอาหารสัตว์ไว้ใช้เองภายในฟาร์ม ในราคาที่ถูกกว่าซื้อจากบริษัทเพื่อเป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรด้วยอีกประการหนึ่ง

  

 

 

               

               

 

 

You may have missed