แนวโน้มการผลิตและการตลาดของมันสำปะหลัง

แนวโน้มการผลิตและการตลาดของมันสำปะหลัง ปี 2564

  1. ของไทย
    • การผลิต

                   ปี 2564 คาดว่ามีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 9.09 ล้านไร่ ผลผลิต 29.88 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,286 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่มีเนื้อที่เก็บเกี่ยว 8.92 ล้านไร่ ผลผลิต 29.00 ล้านตัน และผลผลิตต่อไร่ 3,252 กิโลกรัม พบว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวผลผลิตและผลผลิตต่อไร่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.91 ร้อยละ 3.03 และร้อยละ 1.05 ตามลำดับ เนื้อที่เก็บเกี่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรขยายเนื้อที่ เพาะปลูกมันสำปะหลังแทนอ้อยโรงงานที่ราคามีแนวโน้มลดลง บางส่วนปลูกแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งได้รับความเสียหายจาก  หนอนกระทู้และภัยแล้งเมื่อปีที่ผ่านมา สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นแต่ยังคงน้อยกว่าผลผลิตที่เคยได้รับในปีปกติ เนื่องจาก   ภัยแล้งในช่วงต้นปี 2563 ซึ่งเป็นช่วงเริ่มปลูก ทำให้การเจริญเติบโตช่วงแรกไม่ดี ประกอบกับ   บางพื้นที่มีการขุดหัวมันสำปะหลัง  หนีน้ำช่วงเดือนตุลาคมเนื่องจากฝนตกหนัก

  • การตลาด
  • ความต้องการใช้ในประเทศ

            ปี 2564 คาดว่าความต้องการใช้มันสำปะหลังในประเทศเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตมันเส้น แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล จะทรงตัวใกล้เคียงกับปี 2563

  • การส่งออก

            ปี 2564 คาดว่าการส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง (มันเส้น มันอัดเม็ด และแป้ง มันสำปะหลัง) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปี 2563 โดยเฉพาะการส่องออกมันเส้น เนื่องจากจีนซึ่งเป็นตลาดนำเข้ามันเส้นที่สำคัญของไทยมีความต้องการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อทดแทนสต๊อกข้าวโพดในจีนที่ลดลง ประกอบกับราคาข้าวโพดในจีนปรับตัวสูงขึ้นมาก จึงคาดว่าจีนต้องการนำเข้ามันสำปะหลัง      จากไทย เพื่อไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตแอลกอฮอล์ทอแทนการใช้ข้าวโพดในประเทศเพิ่มมากขึ้น

  • การนำเข้า

          ปี 2564 คาดว่าการนำเข้ามันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ (หัวมันสำปะหลังสด มันเส้น มันอัดเม็ด มันฝาน และแป้งมันสำปะหลัง) จะเพิ่มขึ้นจากปี 2563 เนื่องจากหัวมันสำปะหลังสดและผลิตภัณฑ์ภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของผู้ประกอบการและผู้ส่งออกมันสำปะหลัง ส่งผลให้มีการนำเข้าหัวมันสำปะหลังสดและผลิตภัณฑ์จากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะ กัมพูชา และลาว เพื่อนำมาแปรรูป/รวบรวม/ปรับปรุงคุณภาพ เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ

  • ราคา

           ปี 2564 คาดว่าราคาหัวมันสำปะหลังสดที่เกษตรกรขายได้ และราคาส่งออกผลิตภัณฑ์    มันสำปะหลัง จะสูงขึ้นจากปี 2563 เนื่องจากประเทศคู่ค้ายังมีความต้องการใช้มันสำปะหลังอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าหลักของไทย ที่มีความต้องการนำเข้ามันสำปะหลังจากไทย เพื่อทดแทนการใช้ข้าวโพดในประเทศ

  1. ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตมันสำปะหลัง
  • โรคใบด่างมันสำปะหลัง ตั้งแต่กลางปี 2561 เป็นต้นมา ไทยประสบปัญหาการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังที่เกิดจากเชื้อไวรัส Sri Lankan cassava mosaic virus (SLCMV) มีแมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นพาหะนำโรคมาสู่ต้นมันสำปะหลัง และโรคสามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็ว หากนำต้นพันธุ์ที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังไปปลูก ซึ่งต้นที่เป็นโรคใบด่างมันสำปะหลังจะทำให้ผลผลิตหัวสดลดลงมามากถึงร้อยละ 40 – 80 ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของต้นมันสำปะหลังที่เกิดการระบาด และหากระบาดรุนแรงอาจจะทำให้ผลผลิตเสียหายทั้งหมดได้ ทั้งนี้ ปี 2563 มีการระบาดของโรคใบด่างมันสำปะหลังใน 54 จังหวัด พื้นที่กว่า 440,000 ไร่
  • ภัยธรรมชาติ สถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้มันสำปะหลังชะงักการเจริญเติบโต หัวมันโตไม่เต็มที่ เกษตรกรบางส่วนต้องปลูกซ่อมทดแทนต้นมันสำปะหลังที่แล้งตาย หรืออาจต้องไถทิ้งและปลูกใหม่ ซึ่งหากเกษตรกรเก็บเกี่ยวมันสำปะหลัง     ไม่ครบอายุการเก็บเกี่ยว จะทำให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงและผลผลิตในภาพรวมลดลง

 

………………………………………………………………………………………………….

 

ที่มา : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,Office of Agricultural Economics, สถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2564, หน้า 38 – 39

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed