ฝ่าเท้าอักเสบในไก่เนื้อ

ฝ่าเท้าอักเสบในไก่เนื้อ   (Foot Pad Dermatitis;FPD หรือ Pododermatitis)

วีระ  กสานติกุล

พฤษภาคม 2564

                ในอุตสาหกรรมการผลิตไก่เนื้อ การอักเสบของฝ่าเท้า  นอกจากจะเป็นดัชนีบ่งชี้ถึงเรื่องของคุณธรรมที่ปฏิบัติต่อไก่ (Bird Welfare) แล้ว  ยังเป็นการสูญเสียรายได้จากการขายขาไก่ (Feet/Paws) ด้วย

                การอักเสบของฝ่าเท้าในไก่เนื้อ จะเกิดขึ้นตรงบริเวณที่สัมผัสกับพื้น  แล้วรุกลามไปยังส่วนอื่นๆ ของเท้า   ซึ่งเกิดขึ้นได้ในทุกระยะของการเลี้ยง  โดยในระยะแรกจะเกิดเป็นจุดแดงเล็กๆ  ต่อมาจะเกิดการอักเสบและกลาย เป็นแผลเปื่อย  หากมีการปรับปรุงแก้ไขด้านการจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของวัสดุรองพื้น ลักษณะการอักเสบนี้ก็จะหายไป  อย่างไรก็ตาม  การป้องกันไม่ให้เกิดการอักเสบ  เป็นวิธีที่ดีที่สุด

                การอักเสบของฝ่าเท้าในไก่เนื้อ  เกิดจาก 3 สาเหตุ  คือ

  1. คุณภาพของวัสดุรองพื้นโรงเรือน (Litter Quality)
  2. โภชนาการไก่เนื้อ (Nutrition)
  3. สุขภาพของระบบลำไส้ไก่เนื้อ (Enteric Health)

 

  1. คุณภาพของวัสดุรองพื้นโรงเรือน

การจัดการวัสดุรองพื้นที่ดี   และการดูแลรักษาวัสดุรองพื้นให้มีคุณภาพตลอดอายุการเลี้ยง   เป็นหัวใจหลักในการป้องกัน การเกิดฝ่าเท้าอักเสบในไก่เนื้อ  วัสดุรองพื้นที่มีคุณภาพจะต้องแห้งและร่วนซุย  จะสามารถดูดซับความชื้นและมูลไก่ได้ดี   คุณภาพของวัสดุรองพื้นขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

                1.1. การจัดการวัสดุรองพื้น

                1.2. การจัดการระบบการให้น้ำ

                1.3. การให้แสงและการกระจายของแสง     

                1.4. การระบายอากาศ  

 

1.1. การจัดการวัสดุรองพื้น  

                1.1.1. คุณสมบัติของวัสดุรองพื้นที่ดี 

                           – แห้ง   

                           – ร่วนซุย

                           – ดูดซับได้ดี

                            – เป็นฉนวน

                            – ปราศจากการปนเปื้อน

               1.1.2. การปูวัสดุรองพื้น  พื้นโรงเรือนต้องแห้ง  ปูให้ทั่วพื้นโรงเรือนและเกลี่ยให้เรียบ  หนาประมาณ 3-4  นิ้ว   เพื่อให้    วัสดุรองพื้นมีประสิทธิภาพในการดูดซับความชื้น

               1.1.3. ก่อนการนำลูกไก่เนื้อเข้าเลี้ยง   ควรให้ความอบอุ่นแก่วัสดุรองพื้น  เพื่อปรับอุณหภูมิวัสดุรองพื้นให้อยู่ระหว่าง          28-30 o C ( 82-88 o F )  ทั้งนี้เพราะ อุณหภูมิของวัสดุรองพื้นเป็นจุดวิกฤติของลูกไก่เนื้อ (Litter  temperature is critical for DOC)       

1.2. การจัดการระบบการให้น้ำ

               1.2.1. น้ำที่ใช้เลี้ยงไก่เนื้อควรปราศจากเชื้อแบคทีเรีย 2 ชนิด คือ E. coli  และ  Pseudomonas  เพราะเป็นต้นเหตุของปัญหาวัสดุรองพื้นเปียกชื้น  อันเนื่องมาจากแบคทีเรียนี้ ทำให้ไก่ถ่ายมูลเหลว 

              1.2.2. ตรวจติดตาม (Monitoring)  การปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียของน้ำในระบบการให้น้ำในโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ  ตลอดจนจะต้องมีโปรแกรมสุขอนามัย (Sanitation  Program) ของระบบการให้น้ำ (Water Line) ที่ดี   เพื่อป้องกันปัญหาเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว

                1.2.3. บำรุงรักษาและตรวจเช็คการรั่วไหลของท่อน้ำ  การรั่วไหลและการอุดตันของนิปเปิ้ล (Nipple)  อย่างสม่ำเสมอ  เพื่อป้องกันการเปียกชื้นของวัสดุรองพื้น

                1.2.4. ปรับระดับของระบบการให้น้ำ ให้เหมาะสมกับความสูงของไก่   ไม่ใช่ปรับตามอายุของไก่

35 – 45 Degree

75 – 85 Degree

Base of drinker aligned with bird back

               1.2.5. จำนวนที่ให้น้ำต้องเหมาะสม  จำนวนที่ให้น้ำต่อไก่เนื้อที่พ้นระยะกก (Post-Brooding)   

                                – Bell drinker      :  8  Bells/1,000  ตัว (ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 40 ซม. หรือ 16 นิ้ว)      

                                – Nipple              :  83  Nipples/1,000  ตัว  (12 ตัว / Nipple)

                1.2.6. แรงดันน้ำ (Water Pressure)  จะต้องเหมาะสม  เพื่อให้ไก่ได้กินน้ำอย่างเพียงพอ โดยไม่มีการสูญเสีย  แรงดันน้ำต่ำจะเป็นผลดีต่อวัสดุรองพื้น แต่ไก่จะได้รับน้ำไม่เพียงพอ  จะกระทบต่ออัตราการเจริญเติบโตของไก่ได้

1.3. การให้แสงและการกระจายของแสง

               พื้นที่โรงเรือน ที่แสงกระจายไม่สม่ำเสมอและไม่ทั่วถึงตั้งแต่ระยะเริ่มกก  มีความสำคัญต่อคุณภาพของวัสดุรองพื้น  เพราะการกระจายของแสงทำให้ไก่อยู่อย่างกระจัดกระจาย  หากแสงกระจายไม่ทั่วถึง ไก่จะสุมอยู่รวมกันเป็นกระจุกในที่แสงน้อยกว่า  ทำให้คุณภาพของวัสดุรองพื้นบริเวณนั้นลดลงอย่างรวดเร็ว   เนื่องจากพฤติกรรมของไก่จะมีการคุ้ยเขี่ย  วัสดุรองพื้นบริเวณนั้นจะบางลง  ประกอบกับการที่ไก่อยู่รวมกันหนาแน่น ไก่จะถ่ายมูลบริเวณนั้นมาก วัสดุรองพื้นบริเวณนั้นจึงเปียกชื้น  

1.4. การระบายอากาศ (Ventilation)

                การระบายอากาศภายในโรงเรือน  นอกจากจะเป็นการเติมอากาศที่สะอาดให้กับไก่แล้ว   ยังเป็นการนำเอาแก๊สและความชื้นออกจากโรงเรือนด้วย  การเลี้ยงไก่เนื้อ ความชื้นสัมพัทธ์ ( Relative Humidity ; RH )ควรจะอยู่ระหว่าง 60–70 %                 หาก RH เกิน 70 %   ความชื้นที่เกินนี้จะเป็นต้นเหตุให้วัสดุรองพื้นเปียกชื้น

                การเลี้ยงไก่เนื้อในฤดูกาลที่ต่างกัน  ควรทำการปรับความเร็วลมที่ใช้ในการระบายอากาศให้เหมาะสม เพราะความเร็วลม    ที่เร็วหรือช้า  มีผลต่อการเติมอากาศ  การระบายแก๊สและความชื้นภายในโรงเรือน  จากคู่มือการเลี้ยงไก่เนื้อ Arbor Acres (AA)  แนะนำไว้ว่า  ในการรักษาอุณหภูมิภายในโรงเรือนที่ต่ำกว่า 30 o C (86 o F)  ควรมีความเร็วลม (Air Velocity) พัดผ่านตัวไก่ในอัตรา 400 ฟุต/นาที (122  เมตร/นาที)

 

  1. โภชนาการไก่เนื้อ (Nutrition)

            ในการเลี้ยงไก่เนื้อ  หากมีการจัดการด้านการเลี้ยงดู  มีการดูแลสุขภาพของไก่เนื้อ  และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเหมาะสมแล้ว  เรื่องของโภชนาการเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ ที่ใช้ในการควบคุมฝ่าเท้าอักเสบในการเลี้ยงไก่เนื้อ  โภชนาการมีผลทำให้ วัสดุรองพื้นเปียกชื้น คือ

                2.1. แร่ธาตุในอาหาร

                2.2. คุณภาพของโปรตีนในอาหาร

                2.3. คุณภาพของไขมันในอาหาร

                2.4. การย่อยได้ของวัตถุดิบอาหาร

                2.5. ลักษณะทางกายภาพของอาหาร

                2.6. โปรแกรมการป้องกันบิด

 

2.1. แร่ธาตุในอาหาร  

                  อาหารที่มีระดับของแร่ธาตุโซเดี่ยม (Sodium), โพแตสเซี่ยม (Potassium) และคลอไรด์ (Chloride) อย่างสมดุลและเหมาะสม  จะทำให้ไก่ไม่กินน้ำมากเกินไป โดยเฉพาะธาตุโซเดี่ยมมีผลโดยตรงต่อการกินน้ำของไก่  ระดับของโซเดี่ยมในอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นไก่กินน้ำเพิ่มขึ้น  มูลที่ถ่ายออกมาจะมีลักษณะเหลวซึ่งเป็นสาเหตุทำให้วัสดุรองพื้นเปียกชื้น ดังนั้น ระดับของธาตุโซเดี่ยมในอาหาร จะต้องปรับให้สมดุลและเพียงพอต่อความต้องการของไก่  เพื่อให้ไก่เจริญเติบโตได้ตามศักยภาพ  และไก่ไม่กินน้ำมาก    จนเกินไปด้วย

                การเติมเอนไซม์ไฟเตส (Enzyme Phytase) ลงในอาหารไก่เนื้อ  นอกจากจะส่งเสริมการปลดปล่อยธาตุฟอสฟอรัสจากวัตถุดิบอาหารที่มาจากพืชแล้ว  ยังมีแร่ธาตุอื่นๆ ที่ถูกปลดปล่อยออกมาด้วย  ดังนั้น หากมีปัญหาเกี่ยวกับวัสดุรองพื้นเปียกชื้น ควรหลีกเลี่ยงการเติมเอนไซม์ไฟเตสลงในอาหาร

 

2.2. คุณภาพของโปรตีนในอาหาร

                ระดับของโปรตีนและกรดอะมิโน (Amino  Acids) ที่เหมาะสม  มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญ เติบโตของไก่เนื้อ  ที่สำคัญ คือ แหล่งของกรดอะมิโน ต้องได้มาจากโปรตีนที่สมดุลจากวัตถุดิบอาหารที่มีคุณภาพ  การใช้วัตถุดิบที่มีโปรตีนไม่สมดุล  จะมีไนโตรเจนเหลือจากกระบวนการเผาผลาญ (Metabolism) ภายในร่างกายของไก่มาก  และจะถูกขับออกมาทางมูล  ไก่จะขับถ่ายมูลบ่อยเพื่อขับเอาไนโตรเจนออก  ทำให้วัสดุรองพื้นเปียกชื้น และยังเป็นการเพิ่มก๊าซแอมโมเนียภายในโรงเรือนด้วย   

                ในการประกอบสูตรอาหารไก่เนื้อ   เพื่อให้แน่ใจว่าไก่เนื้อได้รับกรดอะมิโนตามความต้องการ  จะต้อง คำนึงถึงกรดอะมิโนที่ใช้ประโยชน์ได้ (Digestible Amino Acids)  เพื่อลดปัญหาวัสดุรองพื้นเปียกชื้น 

 

2.3. คุณภาพของไขมันในอาหาร

                ไขมันที่มีคุณภาพสำหรับไก่  คือ ไขมันไม่อิ่มตัว (Unsaturated Fats)  เพราะเป็นไขมันที่ใช้ประโยชน์ได้ดี (Digestible Fats)  การใช้ไขมันที่ไม่มีคุณภาพในอาหาร ไก่จะใช้ประโยชน์จากไขมันได้น้อย  ส่วนที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์จะถูกขับออกมาทางมูล  ทำให้มูลมีลักษณะเหนียวข้น (Greasy or Sticky)  ทำให้วัสดุรองพื้นแฉะและจับกันเป็นก้อน เป็นสาเหตุของฝ่าเท้าอักเสบในไก่เนื้อ

 

2.4. การย่อยได้ของวัตถุดิบอาหาร

                ไม่ควรใช้วัตถุดิบอาหารที่มีการย่อยได้ต่ำหรือมีเยื่อใยสูง  เพราะไก่จะถ่ายมูลเพิ่มขึ้น ทำให้คุณภาพของวัสดุรองพื้นลดลง   ควรหลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบที่มีสารต้านการใช้ประโยชน์ของโภชนะ (Anti-nutritional factors) เช่น สารยับยั้งทริปซิน (Trypsin  Inhibitors)  และไม่ควรใช้วัตถุดิบที่มีการปนเปื้อนมัยโคท๊อกซิน (Mycotoxin)  หากไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้วัตถุดิบเหล่านี้           ควรพิจารณาเรื่องการใช้สารเกาะเกี่ยว (Binding) ในอาหาร

                การใช้เอนไซม์ (Enzymes) ช่วยในการย่อยสารที่ไม่ใช่แป้ง (Non-Starch Polysaccharide ; NSP) เป็นวิธีการที่สำคัญในการควบคุมคุณภาพของวัสดุรองพื้น  เพราะสารที่ไม่ใช่แป้งในอาหารจะถูกย่อย  ทำให้วัสดุรองพื้นแห้งเพราะไก่ถ่ายมูลน้อยลง

                ในหลายปีที่ผ่านมา   มีการใช้วัตถุดิบอาหารสัตว์จากพืชและผลพลอยได้จากพืชมากขึ้น  อีกทั้งอาหารสัตว์ที่ปราศจากสารปฏิชีวนะ ซึ่งอาหารไก่เนื้อที่ใช้แหล่งโปรตีนจากพืช ทำให้การจัดการวัสดุรองพื้นยุ่งยากขึ้น

                                                                                                                                              

2.5. ลักษณะทางกายภาพของอาหาร  

                การเลี้ยงไก่เนื้อให้มีการเจริญเติบโต และมีอัตราการแลกเนื้อ ( Feed  Conversion Ratio ; FCR ) ดีนั้น   ไก่จะต้องได้กินอาหารอัดเม็ดตีแตก (Crumb Feed) และอาหารอัดเม็ด (Pellet Feed) ที่มีคุณภาพดี อาหารไก่เนื้อที่มีลักษณะป่นหรือเป็นผงปนอยู่มาก  นอกจากจะประสบปัญหาด้านการเจริญเติบโตและ FCR  แล้ว  ยังมีผลทำให้สัดส่วนของการกินน้ำต่ออาหารของไก่ไม่เหมาะสม ไก่จะกินน้ำเพิ่มขึ้น  เป็นเหตุให้วัสดุรองพื้นเปียกชื้น ทำให้การเกิดฝ่าเท้าอักเสบเพิ่มขึ้น    

 

2.6. โปรแกรมการป้องกันโรคบิด    

                การเลี้ยงไก่เนื้อ  หากมีโปรแกรมการป้องกันโรคบิดที่ดีและเหมาะสม  จะเป็นการรักษาคุณภาพของวัสดุรองพื้นด้วย        สารอาหารบางชนิด  ที่ช่วยลดการเกิดฝ่าเท้าอักเสบในไก่เนื้อ  ได้แก่    

  1. ไบโอติน (Biotin) เป็นวิตามินมีความสัมพันธ์กับการเกิดฝ่าเท้าอักเสบในไก่เนื้อ เพราะไบโอตินมีหน้าที่ช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอของผิวหนัง  หากไก่เนื้อได้รับไบโอตินไม่เพียงพอจึงทำให้เกิดการอักเสบ  ระดับของไบโอตินที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโตของไก่ และเป็นระดับที่ช่วยลดการเกิดฝ่าเท้าอักเสบ คือ 0.1–0.2 มิลลิกรัม /อาหาร 1 กิโลกรัม  อย่างไรก็ตาม   หากวัสดุรองพื้นไม่เหมาะสม และไก่มีแนวโน้นการเกิดฝ่าเท้าอักเสบเพิ่มขึ้น อาจเพิ่มระดับของไบโอตินในอาหารให้สูงขึ้น 
  1. สังกะสี (Zinc) เป็นแร่ธาตุมีความสำคัญต่อการสร้างเซลล์ใหม่ของผิวหนังเช่นเดียวกับไบโอติน   ดังนั้น หากไก่เนื้อได้รับสังกะสีไม่เพียงพอหรือขาดสังกะสี  จะเป็นสาเหตุให้เกิดฝ่าเท้าอักเสบเพิ่มขึ้น         
  2. วิตามินบี (B vitamins ) ต้องมั่นใจว่าอาหารไก่เนื้อ มีวิตามินบีอย่างเพียงพอต่อความต้องการ เพื่อป้องกันการเกิดฝ่าเท้าอักเสบ ระดับความต้องการสังกะสีและวิตามินบีในไก่เนื้อ  ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของสายพันธ์ไก่ที่เลี้ยง
  1. Clay minerals binders เช่น Sepeolites มีความสำคัญต่อการปรับปรุงคุณภาพของวัสดุรองพื้น โดยการผสม Sepeolites ลงในอาหารไก่เนื้อ  เพื่อช่วยให้ท่อทางเดินอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการลดปัญหาการเปียกชื้นของวัสดุรองพื้น  

 

  1. สุขภาพของระบบลำไส้ไก่เนื้อ (Enteric Health)

                ระบบลำไส้ของไก่  นอกจากจะมีความสำคัญต่อประสิทธิภาพการใช้อาหาร และการเจริญเติบโตของไก่เนื้อแล้ว  ยังมีความสำคัญต่อคุณภาพของวัสดุรองพื้นอีกด้วย  ดังนั้น  จึงจำเป็นต้องมีการควบคุม และป้องกันการติดเชื้อในระบบลำไส้ของไก่เนื้อ โดย

  1. นำวัสดุ-อุปกรณ์ที่ไม่จำเป็นออกจากโรงเรือนเลี้ยงไก่เนื้อ
  2. ล้างทำความสะอาดโรงเรือนด้วยสารทำความสะอาด (Detergent)           
  3. ฆ่าเชื้อวัสดุ-อุปกรณ์ โรงเรือน ด้วยสารฆ่าเชื้อ (Disinfectant) ควรมีการใช้สารฆ่าเชื้อไวรัส  รมด้วยฟอร์มาดีไฮด์ (Formaldehyde)  หรือฉีดพ่นด้วยฟอร์มาลีน (Formalin)       
  4. โปรแกรมความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity Program) จะต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

             หากเลี้ยงไก่เนื้อ ภายใต้สภาพแวดล้อมและการจัดการที่เหมาะสม  กล่าวคือ นำลูกไก่เนื้อทีมีคุณภาพมาเลี้ง เพื่อให้ฝูงไก่มีการเจริญเติบโตอย่างสม่ำเสมอ  มีการติดตามและประเมินผลการเลี้ยงอย่างสม่ำเสมอ  เช่น ความเต่งของกระเพาะพัก (Crop fill)  มีการสุ่มชั่งน้ำหนัก  และมีการประเมินความสม่ำเสมอของฝูง (Uniformity measurement)  มีโปรแกรมการให้วัคซีนและการป้องกันโรคบิดที่ดีและเหมาะสม  มีการคัดแยกไก่ป่วยและ/หรือพิการ  จะทำให้ฝูงไก่มีสุขภาพดี  ระบบลำไส้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ       อันเป็นการลดปัญหาฝ่าเท้าอักเสบในไก่เนื้อในที่สุด

 ————————————————————————————————————————–        

               

 เอกสารอ้างอิง :-

              Arbor Acres service bulletin – Broiler Foot Health (Control Foot Pad Dermatitis ), December, 2008.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed