ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายก ส.ไก่ฯ วอน ครม.ชุดใหม่ให้ความสำคัญแก้ปัญหาต้นทุนผลิตภาคเกษตรปศุสัตว์-ค่าเงินบาท
นายกสมาคมฯ ไก่ วอน ครม.ชุดใหม่ให้ความสำคัญปัญหาต้นทุนผลิตภาคเกษตรปศุสัตว์และค่าเงินบาทที่แข็งจนกระทบส่งออก ชี้ทำรายได้เข้าประเทศมหาศาลแต่ไม่เคยได้รับการสนับสนุนเรื่องลดต้นทุนผลิต เผยค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ผู้ประกอบการจ่ายได้แต่รัฐต้องลดค่าน้ำมัน ไฟฟ้าให้เกิดความสมดุลด้านรายรับ รายจ่าย
วันนี้ (9 ก.ย.) ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหาร บริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ปรุงสุกและเนื้อไก่แปรรูปรายใหญ่ของไทย ได้ออกมาฝากความหวังถึงคณะรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะสามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจให้คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นได้
โดยเฉพาะการแก้ปัญหาต้นทุนผลิตในภาคเกษตรปศุสัตว์ ซึ่งถือเป็นภาคการผลิตใหญ่ที่รวบรวมผู้คนในส่วนต่างๆ ไว้เป็นจำนวนมากทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และนักศึกษาจบใหม่ในสาขาวิชาต่างๆ
ที่สำคัญธุรกิจเกษตรปศุสัตว์สามารถทำเงินตราเข้าประเทศในแต่ละปีได้อย่างมหาศาล แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมากลับต้องประสบปัญหาเรื่องต้นทุนผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตอาหารสัตว์ ต้นทุนการขนส่งจากราคาน้ำมันที่พุ่งต่อเนื่อง เช่นเดียวกับค่าไฟฟ้าที่ไม่เคยได้รับการลดหย่อนจากรัฐบาล แต่กลับต้องแบกรับเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำตามนโยบายของรัฐบาลเพื่อให้สอดรับกับค่าครองชีพมาหลายครั้ง
“วันนี้เมื่อมีการปรับเปลี่ยน ครม.ชุดใหม่ในรัฐบาลภายใต้การนำของ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร เราได้แต่ฝากความหวังว่าภาคเกษตรปศุสัตว์ของไทยถือเป็นครัวของโลกจะได้รับการแก้ปัญหาเรื่องต้นทุนผลิตเพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการอยู่ได้และก่อให้เกิดการจ้างงานในหลายภาคส่วน ซึ่งในวันนี้ประเทศไทยมีการส่งออกเนื้อไก่สูงเป็นอันดับ 3 ของโลกแต่กลับต้องเผชิญปัญหาเรื่องค่าเงินบาทที่แข็งเกินจนเริ่มมีผลต่อการแข่งขันในตลาดโลก”
ดร.ฉวีวรรณ บอกอีกว่ากระทรวงการคลัง และ ครม.ชุดใหม่ไม่ควรหลงใหลในเรื่องการซื้อขายหุ้นช่วง 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาที่สูงขึ้นอย่างผิดปกติจากการเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ เพราะเชื่อว่าน่าจะเป็นเพียงช่วงสั้นๆ แต่สิ่งที่รัฐบาลควรให้ความสำคัญคือ การสร้างความสมดุลด้านรายรับและรายจ่ายให้เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการ เพื่อไม่ให้เกิดการปิดตัวและเกิดปัญหาการเลิกจ้างที่จะกระทบถึงภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ
ทั้งนี้ในช่วง 9 เดือนที่ผ่านการส่งออกเนื้อไก่ของไทยไปต่างประเทศเติบโตขึ้นเรื่อยๆ และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นไม่น้อยกว่า 10% ในปี 2567 จากความต้องการสินค้าจากไทยจากคู่ค้าทั่วโลกที่ให้การยอมรับในเรื่องคุณภาพเนื้อไก่ ความปลอดภัยด้านอาหาร การผลิต รสชาติ รวมถึงรูปลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการของตลาดส่วนกรณีภาพลักษณ์ของรัฐบาลใหม่ที่ถูกมองว่าเป็นรัฐบาลครอบครัวเป็นเรื่องธรรมดาที่จะเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์โดยเฉพาะในต่างประเทศที่ให้ความสำคัญกับเรื่องความถูกต้องภาพลักษณ์ทางการเมืองเป็นอย่างมาก
“แต่เมื่อมีการแต่งตั้งคณะทำงานใหม่เข้ามาแล้วขอให้ทำงานอย่างเต็มที่และขอให้รัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องยื่นมือช่วยเหลือผู้ประกอบการส่งออกให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันมากขึ้น เช่นเดียวกับการช่วยหาตลาดใหม่ให้ผู้ประกอบการเพื่อให้ได้มีกำลังในการว่าจ้างแรงงาน และสามารถจ่ายค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทในเดือน ต.ค.นี้ได้ เพราะหากผู้ประกอบการอยู่ได้แรงงานก็อยู่ได้ ซึ่งรัฐเองต้องลดราคาน้ำมัน ไฟฟ้าและสาธาณูปโภคต่างๆ ให้เพราะถือเป็นต้นทุนผลิตที่สำคัญ”
ดร.ฉวีวรรณ ยังกล่าวบอกอีกว่าตนไม่ได้ต่อต้านเรื่องการประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 400 บาทในเดือน ต.ค.2567 เพราะปัจจุบันค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นมากจนประชาชนได้รับความเดือดร้อน แต่รัฐบาลต้องยื่นมือเข้าช่วยผู้ประกอบการ โดยเฉพาะในส่วน SMEs ให้สามารถอยู่ได้ด้วยการลดค่าสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเร็วเพื่อไม่ให้มีการปิดตัวหรือการเลิกจ้าง