การจัดการไก่เนื้อใน 24 ชั่วโมงแรกที่ลูกไก่มาถึงฟาร์ม




การจัดการไก่เนื้อใน 24 ชั่วโมงแรกที่ลูกไก่มาถึงฟาร์ม

( Broiler Management – The First 24 Hours)

เรียบเรียงโดย นายวีระ กสานติกุล

                ใน 24 ชั่วโมงแรกที่นำลูกไก่เข้าเลี้ยงในเล้า ถือเป็นระยะวิกฤติของลูกไก่ จะต้องมีการจัดการที่ดีและมีการดูแลอย่างใกล้ชิด หากมีการจัดการที่ไม่ดีและขาดการเอาใจใส่ จะส่งผลให้ลูกไก่ในระยะแรก มีอัตราการตายสูง ไก่เนื้อที่จับส่งโรงฆ่ามีน้ำหนักน้อยลง อัตราการแลกเนื้อและต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้น ผู้เลี้ยงไก่จำเป็นจะต้องรู้และเข้าใจว่าในช่วง 24 ชั่วโมงแรกที่ลูกไก่มาถึงฟาร์ม จะต้องปฏิบัติอย่างไรการเลี้ยงไก่จึงจะประสบความสำเร็จ

  1. ช่วงชีวิตที่สำคัญมากๆ ของไก่เนื้อ (The Most Crucial Part of a Chick’s Life)

ช่วง 24 ชั่วโมงแรกของชีวิตไก่เนื้อเป็นช่วงที่มี่ความสำคัญมาก ผู้เลี้ยงจะต้องมีการเตรียมการและตรวจความพร้อมของสถานที่และอุปกรณ์ให้เรียบร้อยก่อนที่จะนำลูกไก่เข้าเลี้ยงล่วงหน้า 1 วัน ทั้งนี้เพราะความพร้อมต่างๆ ก่อนที่ลูกไก่จะมาถึง และ 1 ชั่วโมงแรกของชีวิตลูกไก่หลังจากที่ลูกไก่มาถึงฟาร์ม จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกถึงการเริ่มต้นชีวิตที่ดีของลูกไก่

การปรับปรุงพันธุกรรมไก่เนื้อในระยะ 20 ปีที่ผ่านมา จากการเลี้ยงไก่เนื้อให้มีน้ำหนัก 2 กิโลกรัม ต้องใช้เวลาเลี้ยงนานประมาณ 60 วัน ปัจจุบันใช้เวลาเลี้ยงน้อยกว่า 40 วัน นั่นหมายความว่า ในสัปดาห์แรกของไก่เนื้อมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมาก ที่อายุ 1 สัปดาห์มีน้ำหนักถึง 20% ของน้ำหนักตัว เมื่อเทียบกับ 20 ปีที่แล้ว มีน้ำหนักเพียง 10% ของน้ำหนักตัวเท่านั้น

เมื่อไก่เนื้อมีอัตราการเจริญเติบโตที่รวดเร็วในสัปดาห์แรก จึงจำเป็นต้องมีการจัดการที่ดี เนื่องจากไก่เจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น การเตรียมการที่ไม่พร้อมก่อนการนำลูกไก่เข้าเลี้ยง จึงไม่มีเวลาในการแก้ไข และไม่สามารถเพิ่มการจัดการเพื่อชดเชยความเสียหายที่ผ่านมาได้

  1. ความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity)

“ลูกไก่สุขภาพไม่ดี เลี้ยงไม่โต” ลูกไก่ที่นำเข้าเลี้ยงต้องเป็นลูกไก่ที่มีคุณภาพดี ลูกไก่ที่ป่วย, อยู่ในสภาวะเครียด, มีน้ำหนักตัวต่ำ, ขาดน้ำหรือลูกไก่ที่อ่อนแอ จะไม่สามารถเจริญเติบโตได้ตามศักยภาพของพันธุ์ แม้หากมีการนำลูกไก่ที่มีสุขภาพดีเข้าเลี้ยง แต่มีการเตรียมเล้าไม่ดีและมีระยะเวลาในการพักเล้าน้อย ลูกไก่ก็มีโอกาสติดเชื้อโรคได้ จงจำไว้ว่า การเลี้ยงไก่เนื้อจะมีการสูญเสียอย่างมากเนื่องจากโรค ถ้ามีการสุขาภิบาลที่ไม่ดี บุคลากรทุกคนที่ปฏิบัติงานในฟาร์ม จะต้องปฏิบัติตามหลักของความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด สิ่งสำคัญที่สุด คือ จะต้องเข้มงวดไม่ให้บุคคลที่ไม่ได้รับอนุญาตหรือบุคคลที่ไม่จำเป็นเข้าไปในฟาร์ม หากจำเป็น จะต้องปฏิบัติตามหลักความปลอดภัยทางชีวภาพอย่างเคร่งครัด (อาบน้ำ, เปลี่ยนเสื้อผ้า) ก่อนเข้าไปในฟาร์ม การเข้าไปในเล้าไก่จะต้องเข้าเล้าไก่ที่มีอายุน้อยไปยังเล้าไก่ที่มีอายุมาก และไปเล้าไก่ที่ป่วยเป็นเล้าสุดท้าย

ฟาร์มจะต้องมีแผนงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้ไก่ที่เลี้ยงนั้นมีสุขภาพที่ดี ตั้งแต่วันแรกที่นำลูกไก่เข้าเลี้ยงจนถึงจับไก่ส่งโรงฆ่า

  1. คุณภาพของอากาศ (Air Quality)

หลังจากที่มีแผนงานด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ และมีการปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้ว ปัจจัยต่อมาที่มีความสำคัญมาก คือ ลูกไก่ที่มาถึงฟาร์มจะต้องได้รับอากาศคุณภาพดี เป็นอากาศอุ่น (Warm) และสะอาด ทั้งนี้เพราะ หลอดลม (Trachea) ของลูกไก่มักจะระคายเคืองจากก๊าซฟอร์มาดีไฮด์และอากาศที่ปนเปื้อนภายในตู้ฟัก แล้วยังได้รับฝุ่นละอองจากกล่องบรรจุลูกไก่และในขณะขนส่งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การให้อากาศที่บริสุทธิ์แก่ลูกไก่จะต้องไม่ทำให้ลูกไก่หนาวเย็นหรือมีลมโกรก (Chilling or drafting) ผู้รับผิดชอบในการเลี้ยงไก่จะต้องเข้าใจและรู้ว่าจะจัดการฟาร์มอย่างไร เพื่อให้ลูกไก่ได้รับอากาศที่อุ่นและสะอาดตลอดเวลา (warm and fresh air at all times)

  1. อุณหภูมิกก (Brooding Temperature)

เนื่องจากลูกไก่แรกเกิด ระบบการควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายยังไม่สมบูรณ์ อุณหภูมิของร่างกายจึงผันแปรไปตามอุณหภูมิของสภาพแวดล้อม แม้อุณหภูมิของสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยก็มีผลทำให้อุณหภูมิภายในร่างกายของลูกไก่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้น การกกลูกไก่จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการเจริญเติบโตของลูกไก่ตั้งแต่วันแรกของชีวิต และเพื่อให้ไก่มีการเจริญเติบโตที่ดีในวันข้างหน้า

การจัดการในทางปฏิบัติเกี่ยวกับการกกลูกไก่ จะปรับไปตามสภาวะอากาศ (ฤดูกาล) และภูมิประเทศ อย่างไรก็ตาม ลูกไก่ที่มาถึงฟาร์มใน 24 ชั่วโมงแรกจะต้องกกที่อุณหภูมิ 88 – 92F ( 31.11 – 33.33C ) จากการทดลองในไก่เนื้อคละเพศพบว่า หากกกลูกไก่ที่อุณหภูมิต่ำกว่านี้ ลูกไก่จะชะงักการเจริญเติบโต อัตราการแลกเนื้อสูง (FCR) อัตราการตายเพิ่มขึ้น ดังตาราง

รายการ

88 – 92F

เย็น (Cool)

หนาว (Cold)

1. น้ำหนักลูกไก่ที่อายุ 7 วัน (กรัม)

138.11

129.10

120.78

2. น้ำหนักไก่ที่อายุ 42 วัน (กรัม)

2,335.98

2,298.47

2,258.38

3. FCR

1.803

1.829

1.862

4. น้ำหนักเพิ่มเฉลี่ยต่อวัน (กรัม)

55.62

54.73

53.77

5. % คัดทิ้ง ( % Culls )

0.42

2.92

3.75

6. % Ascites

1.67

1.67

5.00

7. % Total Mortality

2.92

5.83

8.33

8. Production Index (PI) ที่ 42 วัน

299.42

281.72

264.68

ก่อนที่ลูกไก่จะมาถึงฟาร์ม ควรจะมีการตรวจวัดอุณหภูมิพื้นที่กกด้วยเทอร์โมมิเตอร์ โดยการวางเทอร์โมมิเตอร์ให้สูงจากวัสดุรองพื้นประมาณ 2 เซนติเมตร เมื่อนำลูกไก่เข้ากกแล้วให้สังเกตและเฝ้าติดตามพฤติกรรมของลูกไก่อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินความเหมาะสมของอุณหภูมิกกและการระบายอากาศ ผู้จัดการฟาร์มจะต้องรู้และเข้าใจพฤติกรรมของลูกไก่เป็นอย่างดี จึงจะสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีและถูกต้อง

  1. น้ำสำหรับลูกไก่ (Water)

ลูกไก่แรกเกิดสามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยปราศจากน้ำและอาหารนานถึง 100 ชั่วโมงหรือมากกว่า โดยใช้อาหารที่สะสมไว้ในไข่แดงที่อยู่ภายในช่องท้องของลูกไก่ อย่างไรก็ตาม ลูกไก่ควรจะมาถึงฟาร์มและได้รับน้ำและอาหารภายใน 8 ชั่วโมงหลังจากที่ลูกไก่ออกจากตู้ฟัก การที่ลูกไก่ได้รับน้ำและอาหารยิ่งช้า ลูกไก่จะขาดน้ำ (Dehydration) และสูญเสียน้ำหนักตัวมาก ดีที่สุด คือ ให้ลูกไก่ได้กินน้ำเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

น้ำที่ให้ลูกไก่กินเมื่อลูกไก่มาถึงฟาร์ม ควรเป็นน้ำที่สะอาดและจะต้องตรวจสอบอุณหภูมิของน้ำด้วย น้ำที่ไม่สะอาดหรือมีการปนเปื้อนจะเป็นสาเหตุทำให้ลูกไก่ท้องเสีย (Diarrhea) ลูกไก่จะสูญเสียน้ำทำให้ฝูงลูกไก่มีอันตรายสูง

การใช้น้ำตาล 4% ผสมน้ำให้ลูกไก่กินใน 2 – 3 ชั่วโมงแรกที่ลูกไก่มาถึงฟาร์ม เป็นการเพิ่มพลังงานให้แก่ลูกไก่ น้ำตาลที่ผสมอยู่ในน้ำจะทำให้ระบบทางเดินอาหารของลูกไก่แฟ๊บอยู่ ขยายตัวออก ดังนั้น การผสมน้ำตาลลงในน้ำให้ลูกไก่กินเมื่อลูกไก่มาถึงฟาร์ม จึงเป็นการกระตุ้นให้ลูกไก่กินอาหารได้เร็วขึ้น

หลังจากการให้น้ำผสมน้ำตาลแล้ว ควรให้วิตามินละลายน้ำแก่ลูกไก่ใน 3 วันแรกที่ลูกไก่มาถึงฟาร์ม แต่ไม่ควรผสมวิตามินลงไปในน้ำในขณะที่ให้วัคซีนทางน้ำแก่ลูกไก่

น้ำที่ให้ไก่กินโดยใช้ Nipple จะต้องมีความเข้มข้นของคลอรีน 1 ppm.

  1. อาหาร (Feed)

อาหารลูกไก่ต้องมีคุณภาพดี และมีขนาด (Particle size) ที่เหมาะสมสำหรับลูกไก่ ต้องมีอาหารให้ลูกไก่กินได้อย่างสะดวก เพียงพอตลอดเวลา ควรมีการตรวจสอบการกินอาหารของลูกไก่อย่างสม่ำเสมอ โดยการสุ่มจับลูกไก่ดูความเต็มเต่งของกระเพาะพัก ( Crop ) ถ้ากระเพาะพักไม่มีอาหารหรือมีเพียงครึ่งกระเพาะแสดงว่าจะต้องมีสิ่งผิดปกติ ให้เร่งหาสาเหตุและแก้ไขในทันที

หมายเหตุ ปัญหาที่ประสบเสมอๆ คือ จำนวนอุปกรณ์ให้น้ำและอาหารต่อจำนวนลูกไก่ และการกระจายของอุปกรณ์ ทำให้ลูกไก่ที่มาถึงฟาร์มกินน้ำและอาหารไม่เพียงพอ

  1. วัสดุรองพื้น (Litter Quality)

วัสดุรองพื้นจะต้องมีคุณภาพดี เนื่องจากลูกไก่แรกเกิดระบบภูมิคุ้มกันยังไม่สมบูรณ์ และก้านไข่แดง ( yolk stalk ) หรือสะดืออาจจะยังเข้าที่ไม่เรียบร้อย ดังนั้น ใน 2 – 3 ชั่วโมงแรกที่นำลูกไก่เข้าเลี้ยงจึงติดเชื้อได้ง่ายมาก วัสดุรองพื้นจึงมีความสำคัญ เพราะลูกไก่สัมผัสกับวัสดุรองพื้นตลอดเวลา

ใน 24 ชั่วโมงแรกที่ลูกไก่มาถึงฟาร์ม พื้นที่กกอาจใช้กระดาษหนังสือพิมพ์ปูบนวัสดุรองพื้น เพื่อลดปัญหาลูกไก่ติดเชื้อจากวัสดุรองพื้น

ควรจะมีการทำให้วัสดุรองพื้นอุ่น ( warm ) ก่อนที่ลูกไก่จะมาถึงฟาร์ม อุณหภูมิร่างกายของลูกไก่อาจจะลดลงอย่างมากโดยทางผิวหนังฝ่าเท้าของลูกไก่ที่สัมผัสกับวัสดุรองพื้น ถ้าวัสดุรองพื้นเย็น ควรจะมีการตรวจสอบอุณหภูมิของวัสดุรองพื้นโดยเทอร์โมมิเตอร์ หรือเราอาจตรวจสอบได้ง่ายๆ โดยการสัมผัสตรงบริเวณฝ่าเท้าของลูกไก่

เอกสารประกอบการเรียบเรียง :

  1. Arbor Acres Broiler Management Guide : 2009
  2. D.Butcher, DVD, Ph.D. and Amir H. Nilipour, Ph.D., Brolier Management – The First 24 Hours ( VM 124 ), University of florida, Original publication date May 1,2002.

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed