แนวโน้มการผลิตเนื้อไก่ปี 2564
แนวโน้มการผลิตเนื้อไก่ปี 2564
- ของโลก
- การผลิต
ปี 2564 คาดว่าการผลิตเนื้อไก่ของโลกจะมีปริมาณ 102.93 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 100.83 ล้านตัน ของปี 2563 ร้อยละ 2.08 การผลิตเนื้อไก่ของโลกขยายตัวตามความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์โรคโควิด 19 ในหลายประเทศเริ่มคลี่คลายและมีการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น โดยคาดว่าจีนมีการขยายการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 3.03 เมื่อเทียบกับปี 2563
- การตลาด
- ความต้องการบริโภค
ปี 2564 คาดว่าการบริโภคเนื้อไก่ของโลกมีปริมาณ 100.71 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 98.65 ล้านตัน ในปี 2563 ร้อยละ 2.09 ผู้บริโภครายใหญ่ที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา คาดว่าน่าจะมีปริมาณการบริโภค 17.19 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ จีน 15.82 ล้านตัน สหภาพยุโรป 11.85 ล้านตัน และบราซิล 10.24 ล้านตัน
- การส่งออก
ปี 2564 คาดว่าการส่งออกเนื้อไก่ของโลกมีปริมาณ 12.19 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 11.95 ล้านตัน ของปี 2563 ร้อยละ 1.96 ผู้ผลิตรายเดิม (บราซิล สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป) ยังคงเป็นผู้ครองตลาดโดยบราซิลยังคงเป็นประเทศที่ส่งออกเนื้อไก่มากที่สุด คือ 3.94 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 3.86 ล้านตัน ของปี 2563 ร้อยละ 2.07 รองลงมา ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และไทย ตามลำดับ ซึ่งไทยยังคงเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก
- การนำเข้า
ปี 2564 คาดว่าการนำเข้าเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ของโลกมีปริมาณ 9.96 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 9.80 ล้านตัน ของปี 2563 ร้อยละ 1.68 โดยญี่ปุ่นยังคงเป็นประเทศที่นำเข้าเนื้อไก่มากที่สุด คือ 1.06 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ จีน 0.93 ล้านตัน เม็กซิโก 0.89 ล้านตัน สหภาพยุโรป 0.72 ล้านตัน และซาอุดิอาระเบีย 0.63 ล้านตัน ตามลำดับ
- ของไทย
- การผลิต
ปี 2564 คาดว่าการผลิตไก่เนื้อของไทยยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากร และความต้องการบริโภคที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งภายในประเทศและตลาดต่างประเทศ โดยคาดว่าไทยจะผลิตไก่เนื้อปริมาณ 1,721.89 ล้านตัว เพิ่มขึ้นจาก 1,694.52 ล้านตัว ของปี 2563 ร้อยละ 1.62
- การตลาด
- ความต้องการบริโภค
ปี 2564 คาดว่าการบริโภคเนื้อไก่ของไทยมีปริมาณ 1.66 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 1.60 ล้านตัน ของปี 2563 ร้อยละ 3.30 เนื่องจากเนื้อไก่เป็นอาหารที่จำเป็นเพื่อการบริโภค และเป็นอาหารโปรตีนที่มีราคาถูกกว่าเนื้อสัตว์ชนิดอื่นๆ โดยการบริโภคในประเทศคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.30 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด
- การส่งออก
การส่งออกเนื้อไก่ของไทยในปี 2564 คาดว่าน่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นสอดรับกับปริมาณความต้องการบริโภคของตลาด โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่นและสหภาพยุโรป ที่มีแนวโน้มนำเข้าเนื้อไก่จากไทยเพิ่มขึ้น จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19 ประกอบกับตลาดจีน ที่มีความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนเนื้อสุกร ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมป้องกัน และเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ที่เข้มงวด ตลอดจนการรักษามาตรฐานการผลิตและคุณภาพสินค้า จนเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคและประเทศคู่ค้า ทำให้ไทยสามารถขยายการส่งออกเนื้อไก่ได้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2564 คาดว่าการส่งออกเนื้อไก่รวมมีปริมาณ 920,000 ตัน มูลค่า 108,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 900,000 ตัน มูลค่า 105,000 ล้านบาท ของปี 6563 ร้อยละ 2.22 และร้อยละ 2.86 ตามลำดับ โดยแบ่งเป็นการส่งออกไก่สดแช่แข็งปริมาณ 360,000 ตัน มูลค่า 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 350,000 ตัน มูลค่า 29,000 ล้านบาท ของปี 2563 ร้อยละ 2.86 และร้อยละ 3.45 ตามลำดับ และเป็นการส่งออกเนื้อไก่แปรรูปปริมาณ 560,000 ตัน มูลค่า 78,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปริมาณ 550,000 ตัน มูลค่า 76,000 ล้านบาท ของปี 2563 ร้อยละ 1.82 และร้อยละ 2.63 ตามลำดับ
- ราคา
3.1 ราคาที่เกษตรกรขายได้
ปี 2564 คาดว่าราคาไก่เนื้อที่เกษตรกรขายได้จะสูงขึ้นจากปี 2563 เนื่องจากมีการวางแผนผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3.2 ราคาส่งออก
ปี 2564 คาดว่าราคาส่งออกเนื้อไก่สดแช่เย็นแช่แข็งและเนื้อไก่แปรรูปจะสูงขึ้นเล็กน้อยจากปี 2563
ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิตหรือการาส่งออกของไทย
ปัจจัยด้านบวก
- การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลกทำให้ความต้องการบริโภคอาหารจากเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อไก่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเนื้อไก่เป็นอาหารโปรตีนที่มีไขมันต่ำ รวมทั้งยังมีราคาถูกเมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่นๆ
- การส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่น ขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากสินค้าอาหารจากไทยมีภาพลักษณ์ที่ดีทั้งในด้านคุณภาพและราคา และไทยมีระยะทางที่ใกล้กว่าประเทศคู่แข่งอย่างสหรัฐอเมริกา และบราซิล รวมทั้งแรงงานไทยมีฝีมือและประณีต ทำให้ผลิตภัณฑ์ไก่สดของไทยสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้ดีกว่าคู่แข่ง ประกอบกับการที่หลายประเทศเกิดการระบาดโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) ทั้งในจีน และประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้มีความต้องการบริโภคเนื้อไก่เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนการบริโภคเนื้อสุกร ส่งผลให้ไทยมีโอกาสขยายการส่งออกเนื้อไก่ได้เพิ่มขึ้น
- การดำเนินการเรื่อง Compartment และ Traceability สามารถสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพการผลิตเนื้อไก่ของไทยให้ประเทศคู่ค้ายอมรับ ซึ่งเป็นผลจากมาตรการควบคุมป้องกัน และเฝ้าระวังโรคระบาดสัตว์ที่เข้มงวด ทำให้ไทยไม่มีรายงานการพบโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยเป็นเวลากว่า 12 ปี นับจากวันที่ทำลายสัตว์ปีตัวสุดท้าย เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2551 ในขณะที่ประเทศคู่แข่งต่างๆ มีการระบาดของโรคไข้หวัดนก อาทิ สหรัฐอเมริกา และจีน จึงเป็นโอกาสที่ทำให้ไทยมีส่วนแบ่งการตลาดส่งออกเนื้อไก่ไปยังตลาดโลกเพิ่มขึ้น
ปัจจัยด้านลบ
- ประเทศไทยต้องพึ่งพาปัจจัยการผลิต และเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น พันธุ์สัตว์ เคมีภัณฑ์ เวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ต่างๆ ตลอดจนต้นทุนการผลิตไก่เนื้อของไทยโดยเปรียบเทียบสูงกว่าประเทศคู่แข่ง อาทิ บราซิล สหรัฐอเมริกา และจีน
- ประเทศต่างๆ มีการนำมาตรการการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (Non – Tariff Measures : NTMs) มาใช้มากขึ้น โดยนำประเด็นทางสังคมต่างๆ มากำหนดเป็นมาตรฐานทางการค้าระหว่างประเทศ เช่น มาตรฐานแรงงาน มาตรฐานสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งประเทศคู่ค้าอาจนำประเด็นดังกล่าวมาใช้กีดกันการค้าระหว่างกัน หากไทยไม่ได้มีการเตรียมป้องกันและแก้ไขอย่างจริงจัง ก็อาจส่งผลกระทบต่อการส่องออกเนื้อไก่ของไทยได้
- ค่าเงินบาท เนื่องจากสินค้าไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์เป็นสินค้าเกษตรส่งออกที่สำคัญของไทย โดยไทยสามารถส่งออกได้มากกว่าร้อยละ 30 ของปริมาณการผลิตทั้งหมด และเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 4 ของโลก ทั้งนี้ หากค่าเงินบาทมีการแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง จะทำให้สินค้าไก่เนื้อและผลิตภัณฑ์ของไทยมีราคาแพง ส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันด้านราคากับประเทศคู่แข่งลดลง
- การระบาดของโรคโควิด 19 ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยลดลง ตลอดจนเปลี่ยนรูปแบบการบริโภคของผู้บริโภค อาทิ ลดการรับประทานอาหารนอกบ้าน รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณการบริโภคในประเทศให้ลดลงได้