เป้าหมายการเลี้ยงไก่เนื้อให้ประสบความสำเร็จ : คุณภาพของไข่ฟัก
เป้าหมายการเลี้ยงไก่เนื้อให้ประสบความสำเร็จ
: คุณภาพของไข่ฟัก
เรียบเรียงโดย นายวีระ กสานติกุล
การเลี้ยงไก่เนื้อให้ประสบความสำเร็จ ควรมีการกำหนดเกณฑ์ตั้งแต่คุณภาพของไข่ฟัก คุณภาพของลูกไก่เนื้อที่จะนำ เข้าเลี้ยง และเกณฑ์หรือมาตรฐานด้านการจัดการระหว่างการเลี้ยงไก่เนื้อ
เกณฑ์ที่สำคัญอันดับแรกที่จะต้องกำหนด คือ คุณภาพของไข่ฟัก ตั้งแต่การเก็บรักษาไข่ก่อนนำ เข้าฟัก ซึ่งไม่ควรเก็บนานเกิน 3 วัน เพราะการเก็บไข่ฟักนานเกินไป ทำให้คุณภาพของลูกไก่ อัตราการ ฟักออกและความแข็งแรงของลูกไก่ลดลง อุณหภูมิและความชื้นภายในห้องเก็บไข่ฟักจะต้องเหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้จุดเจริญในไข่ฟัก ( Blastoderm ) ถูกทำลายหรือทำให้อ่อนแอลง
ขนาดของไข่ฟักที่เหมาะสม เกณฑ์ที่ถือว่าเป็นจุดวิกฤติของไข่ฟัก คือ น้ำหนักต่ำสุดของไข่ฟัก ไม่ควรต่ำกว่า 50 กรัม ซึ่งน้ำหนักของไข่ฟักจะขึ้นอยู่กับอายุของแม่พันธุ์ไก่ หากมีความจำเป็นต้องฟักไข่ ที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 50 กรัม ลูกไก่ที่นำมาเลี้ยง จะต้องแยกเลี้ยงและต้องมีการดูแลอย่างใกล้ชิด
น้ำหนักของไข่ฟัก มีความสัมพันธ์กับน้ำหนักแรกเกิดและคุณภาพของลูกไก่ ไข่ฟองใหญ่เมื่อนำไปฟัก จะได้ลูกไก่ ที่มีน้ำหนักแรกเกิดมาก หากมีการจัดการตู้ฟักไข่และตู้เกิดที่ถูกต้องและเหมาะสม ไข่ฟักจะให้ลูกไก่ที่มีน้ำหนักแรกเกิด 67 – 70% ของน้ำหนักไข่ที่นำเข้าฟัก (ไข่ฟักฟองเล็ก 68 – 72%, ไข่ฟักฟองขนาดกลางและใหญ่ 65 – 68 %)
น้ำหนักของไข่ฟักและลูกไก่จะขึ้นอยู่กับอายุของแม่พันธุ์ไก่ ดังตาราง
น้ำหนักของไข่ฟัก ตามอายุของแม่พันธุ์ไก่ |
น้ำหนักไข่ฟัก
(กรัม) |
น้ำหนักลูกไก่แรกเกิด (กรัม) |
น้ำหนักไข่ฟักต่ำสุด
( Minimum egg weight ) |
50.00 |
35.00 |
น้ำหนักไข่ฟักจากแม่พันธุ์
ระยะ 1 (อายุ 26 – 35 สัปดาห์) |
56.00 |
40.00 |
น้ำหนักไข่ฟักจากแม่พันธุ์
ระยะ 2 (อายุ 36 – 45 สัปดาห์) |
63.00 |
43.00 |
น้ำหนักไข่ฟักจากแม่พันธุ์
ระยะ 3 (อายุ 46 – 55 สัปดาห์) |
66.00 |
45.00 |
น้ำหนักไข่ฟักจากแม่พันธุ์
ระยะ 4 (อายุ 56 – 85 สัปดาห์) |
69.00 |
47.00 |
………………………………………………………………………………………………………….
เอกสารอ้างอิง :
G.D.Butcher, DVM, Ph.D. and A.H.Nilipour, Ph.D., Vm 14 – Broiler Production Goal, Rev. May 2008, University of Florida.