แนวโน้มการผลิตและการตลาด ของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

แนวโน้มการผลิตและการตลาดของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

  1. การผลิต

             ปี 2564/65 คาดว่าเนื้อที่เพาะปลูกมี 7.06 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจาก 7.03 ล้านไร่ ในปี 2563/64 ร้อยละ 0.43 เนื่องจากราคาที่เกษตรกรขายได้ในปี 2563 จูงใจให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากขึ้นจากที่เคยลดพื้นที่ปลูกเพราะประสบภัยแล้ง ฝนตกล่าช้า และมีหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดระบาดตั้งแต่ปี 2562 สำหรับผลผลิตต่อไร่คาดว่าเพิ่มขึ้นจาก 684 กิโลกรัม ในปี 2563/64 เป็น 703 กิโลกรัม ในปี 2564/65 หากสภาพอากาศเอื้ออำนวยและปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเจริญเติบโตในช่วงที่   ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ออกดอก และคาดว่าน่าจะสามารถควบคุมการระบาดของหนอนกระทู้ข้าวโพดลายจุดได้ ส่งผลให้ปริมาณ    ผลผลิตรวมเพิ่มขึ้นจาก 4.81 ล้านตัน ในปี 2563/64 เป็น 4.96 ล้านตัน ในปี 2564/65 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.12

  1. การตลาด
  • ความต้องการใช้

         ปี 2564 คาดว่าความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีปริมาณเพิ่มขึ้นจากปี 2563 เนื่องจากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์ ทำให้ความต้องการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

  • การส่งออก

          ปี 2564 คาดว่าการส่งออกมีแนวโน้มลดลงจากปี 2563 เนื่องจากความต้องการใช้ในภาคอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น ทำให้การส่งออกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไปยังตลาดอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง อินโดนีเซีย และไต้หวัน มีแนวโน้มลดลง

  • การนำเข้า

          ปี 2564 คาดว่าการนำเข้ามีแนวโน้มลดลงจากปีที่ผ่านมา หากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เริ่มคลี่คลาย      การค้าขายระหว่างจีนกับเมียนมาอาจกลับเข้าสู่สภาวะปกติ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศยังผลิตได้ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตอาหารสัตว์ ส่งผลให้ยังต้องมีการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านโดยเฉพาะจาก สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา

  • ราคา

          ปี 2564 คาดว่าราคาใกล้เคียงกับปี 2563 เนื่องจากภาครัฐได้ดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์  ปี 2563/64 ต่อเนื่องจากปี 2562/63 และมาตรการคู่ขนาน 5 มาตรการ ได้แก่

  1. โครงการสินเชื่อเพื่อรวบรวมข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และสร้างมูลค่าเพิ่มโดยสถาบันเกษตรกร
  2. โครงการชดเชยดอกเบี้ยในการเก็บสต๊อกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  3. การดูแลความเป็นธรรมในการซื้อขายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  4. การดูแลความสมดุล โดยแจ้งปริมาณการครอบครอง การนำเข้า สถานที่เก็บ และการตรวจสอบสต๊อก
  5. การบริหารจัดการการนำเข้า โดยกำหนดช่วงเวลานำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สำหรับผู้นำเข้าทั่วไป ควบคุมการขนย้ายในพื้นที่   ติดแนวชายแดน และการกำหนดสัดส่วนการนำเข้าข้าวสาลีต่อการรับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

          ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีรายได้ที่แน่นอน และได้รับราคาที่เหมาะสมตามราคาตลาด ครอบคลุมต้นทุนและค่าขนส่งในช่วงที่ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตกต่ำ

ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิต การตลาด และการส่งออก

  1. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อปริมาณการผลิต และการตลาด
  • พื้นที่ปลูกไม่เหมาะสม พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณร้อยละ 49 อยู่ในพื้นที่ป่า และประมาณร้อยละ 35 อยู่ในเขต    เหมาะสมน้อยและไม่เหมาะสม ส่งผลทำให้ปริมาณผลผลิตต่อไร่อยู่ในเกณฑ์ต่ำ ปัจจุบันภาครัฐมีนโยบายทวงคืนพื้นที่ป่าและภาคเอกชนมีมาตรการไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์/พื้นที่ป่า ซึ่งอาจส่งผลให้การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ดังกล่าวมีแนวโน้มลดลง ดังนั้นหากไม่มีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือส่งเสริมการปลูกในพื้นที่ที่เหมาะสมอื่นๆ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อาจจะขาดแคลนเพิ่มขึ้นสำหรับภาคอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ของไทย
  • ปัญหาภัยธรรมชาติ พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มากกว่าร้อยละ 90 ของพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งประเทศ อยู่นอกเขตชลประทานและอาศัยน้ำฝนในการเพาะปลูกเพียงอย่างเดียว การเกิดปัญหาภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง อาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
  • ความต้องการใช้ของอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ ปริมาณผลผลิตมากกว่าร้อยละ 90 ของผลผลิตทั้งหมด ใช้ในอุตสาหกรรม   อาหารสัตว์เป็นหลัก การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของความต้องการใช้จะส่งผลต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศ
  • การนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน การนำเข้าทั้งที่ผ่านและไม่ผ่านพิธีการทางศุลกากรอาจส่งผลกระทบต่อราคาภายในประเทศ โดยเฉพาะช่วงที่ผลผลิตภายในประเทศออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนธันวาคม ของทุกปี
  • การนำเข้าพืชทดแทน การนำข้าวสาลีราคาถูกมาใช้ทดแทนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บางส่วนในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อาจส่ง    ผลกระทบต่อราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เกษตรกรขายได้
  1. ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออก

                ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการส่งออก ได้แก่ ปริมาณผลผลิตภายในประเทศ ความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมการผลิต      อาหารสัตว์ และราคาผลผลิตภายในประเทศ

 

………………………………………………………………………………………………….

 

ที่มา : สำนักวิจัยเศรษฐกิจการเกษตร, สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร,Office of Agricultural Economics, สถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้ม ปี 2564, หน้า 28 – 29

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

You may have missed