นายกสมาคมฯให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความล้มเหลวในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่เกิดจากการระบาดโรคโควิด-19 ของรัฐบาล
นายก ส.ไก่ฯ สับเละรัฐบาลล้มเหลวแผนจัดหาวัคซีน-แก้ ศก. จี้เลิกเล่นการเมืองก่อนล้มทั้งระบบ
เผยแพร่: 16 มิ.ย. 2564 17:17 ปรับปรุง: 16 มิ.ย. 2564 17:17 โดย: ผู้จัดการออนไลน์
ศูนย์ข่าวศรีราชา – นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทย สับเละรัฐบาลล้มเหลวแผนจัดหาวัคซีน-แก้ปัญหาเศรษฐกิจจากพิษโควิด-19 ชี้ทำเรื่องง่ายให้เป็นเรื่องยากจนเดือดร้อนไปทั่ว วอนหยุดเล่นการเมือง จี้ ก.คลัง พาณิชย์ แบงก์ชาติ ดูแลภาคการผลิตก่อนล้มทั้งระบบ
วันนี้ (16 มิ.ย.) ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่ปรุงสุกและเนื้อไก่แปรรูปรายใหญ่ของไทยได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนโควิด-19 รวมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า ล้มเหลวไม่เป็นท่า
พร้อมยังบอกอีกว่า แม้ในวันนี้ความมั่นใจเนื้อไก่ไทยของคู่ค้าในต่างประเทศจะยังมีสูงจนทำให้ตัวเลขการส่งออกสินค้าไก่ในไตรมาสแรกของปี 64 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 75,203 ตันหรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวม จำนวน 7,875.56 ล้านบาท และถือเป็นยอดการส่งออกที่เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 326.9 ล้านบาท
แต่ผู้ประกอบการกลับต้องเผชิญปัญหาหลายประการที่กระทบต่อภาคการผลิตจนทำให้ทั้งระบบต้องประสบปัญหาขาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนตู้บรรจุสินค้าจนทำให้ราคาตู้คอนเทนเนอร์พุ่งสูงจาก 70,000 บาทต่อตู้เป็นกว่า 300,000 บาทต่อตู้ หรือราคาพุ่งสูงขึ้นประมาณ 4 เท่าตัว
อีกทั้งยังต้องเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตที่เกิดจากราคาข้าวโพดที่ใช้ในผลิตอาหารสัตว์ที่มีราคาสูงขึ้นจากการสนับสนุนให้มีการส่งออกของรัฐบาลทั้งที่การใช้ในประเทศยังไม่เพียงพอ
ส่วนการบริโภคเนื้อไก่ภายในประเทศได้ตกต่ำลงอย่างเห็นได้ชัดจากกำลังซื้อที่ลดลงกว่า 30% ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาการตกงานและขาดรายได้ของประชาชน และคำสั่งปิดตลาดสดต่างๆ จากการแพร่ระบาดของโควิด-19
ไม่เพียงเท่านั้น ความสุ่มเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในกลุ่มแรงงานภายในโรงเชือดไก่ ซึ่งที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระการขาดแคลนแรงงานอย่างหนักอยู่แล้ว ในวันนี้ยังต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาลเพื่อดำเนินมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดให้เข้มข้นมากขึ้นจากเดิมที่เคยปฏิบัติตามมาตรฐานสากล
“เหล่านี้ล้วนเป็นต้นทุนที่สูงมากแต่รัฐบาลกลับไม่เคยเหลียวแลความเป็นอยู่ของภาคการผลิตที่ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลมาโดยตลอด ทั้งเรื่องการจ้างงานและการจ้างนักศึกษาจบใหม่ รวมทั้งการสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนภายในประเทศที่ครอบคลุมไปถึงภาคการขนส่ง และการสร้างรายได้ซึ่งเวียนกันเป็นลูกโซ่ ไปจนถึงความเป็นอยู่ในครอบครัว”
ดร.ฉวีวรรณ เผยอีกว่า ทุกวันนี้ผู้ประกอบการยอมแบกรับภาระขาดทุนเพื่อพยุงให้ระบบการผลิตของไทยยังเดินหน้าต่อไปได้ และแรงงานจำนวนมากยังมีงานทำ และสิ่งที่ภาคการผลิตต้องการจากรัฐบาลคือการออกนโยบายช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้เกิดสภาพคล่อง
“ทุกวันนี้บอกได้เลยว่าผู้ประกอบการมีความลำบากมากๆ ทั้งในเรื่องการค้าขายและการลงทุน อีกทั้งยังต้องวางมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการแพร่ระบาดในโรงงาน และยังต้องหาหมุนเงินเพื่อจัดซื้อวัตถุดิบที่มีจำนวนมหาศาลแต่รัฐบาลไม่เคยมีมาตรการเยียวยาใดๆ ผิดกับการแก้ปัญหาของรัฐบาลชุดก่อนที่จัดการเรื่องการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกที่จบเบ็ดเสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็วจนไม่กระทบต่อการส่งออก และไม่กระทบต่อการเป็นครัวโลกของไทยได้อย่างแท้จริง”
ขณะที่วงจรการผลิตเนื้อไก่ต้องใช้เงินหมุนเวียนค่อนข้างสูง แต่รัฐบาลโดยเฉพาะกระทรวงการคลัง และแบงก์ชาติ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์กลับไม่เคยลงมารับฟังความเห็นหรือปัญหาของผู้ประกอบการ วันนี้ถึงเวลาแล้วที่นักการเมืองและหน่วยงานรัฐจะต้องลงมารับฟังปัญหาอย่างแท้จริงเพื่อให้เกิดการแก้ไข ไม่ใช่ปล่อยให้ผู้ประกอบการผลิตสินค้าออกมาแล้วไม่สามารถส่งขายหรือแม้จะขายได้ก็ต้องขายในราคาถูกจนขาดทุน
“โดยเฉพาะในเรื่องการจัดหาวัคซีนโควิด-19 วันนี้คนงานในภาคการผลิตเนื้อไก่ทั้งส่งออกและบริโภคภายในประเทศมีเป็นจำนวนหลายแสนคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานภายในโรงงานผลิตเนื้อไก่ ทั้งโรงเชือด และโรงปรุงสุกที่มีมากกว่า 40 โรงที่ต้องการวัคซีนเป็นอย่างมากเพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค และผู้ประกอบการยินดีที่จะสั่งซื้อเพื่อให้การแพร่ระบาดสามารถควบคุมได้ แต่การแก้ปัญหาของรัฐบาลคือเมื่อพบการแพร่ระบาดก็ออกคำสั่งให้ปิดโรงงานโดยลืมไปว่าเมื่อสั่งปิดโรงงานหนึ่งแล้วไก่ในรุ่นต่อไปที่พร้อมผลิตเป็นเนื้อไก่ผู้ประกอบการจะจัดการอย่างไร”
และยังบอกอีกว่า ในความเป็นจริงแล้วเรื่องการจัดหาวัคซีนเป็นเรื่องที่ง่ายมากแต่เหตุใดรัฐบาลกลับทำให้เป็นเรื่องยุ่งยาก ที่สำคัญผู้ประกอบการในแวดวงการเกษตรปศุสัตว์ใช้วัคซีนของไฟเซอร์ในการป้องกันโรคระบาดในสัตว์มานานกว่า 30 ปีและในแต่ละปีใช้จำนวนหลายล้านโดส ซึ่งที่ผ่านมาผู้ประกอบการไม่เห็นว่าจะจัดซื้อวัคซีนจากไฟเซอร์เป็นเรื่องยากเย็นอะไร
“เมื่อสอบถามไปยังไฟเซอร์ เขาแจ้งว่าไม่มีปัญหาเรื่องการขายวัคซีนโควิด-19 ให้ไทยเพียงแต่ต้องรอให้รัฐบาลไทยอนุมัติก่อน ซึ่งตรงนี้มันเกิดคำถามว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย และที่พูดเช่นนี้ไม่ใช่มองว่าวัคซีนจากประเทศจีนไม่ดี และยอมรับว่าประเทศจีนมีการวิจัยในเรื่องวัคซีนมายาวนาน แต่สิ่งที่อยากสื่อสารไปยังรัฐบาลคือ หากไม่เร่งจัดหาวัคซีนให้เพียงพอและรวดเร็วการแพร่ระบาดในระลอกที่ 4 จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน” เมื่อนั้นเศรษฐกิจที่ย่ำแย่มาตั้งแต่ครั้งการแพร่ระบาดระลอก 1-2 และวิกฤตหนักในระลอก 3 จะยิ่งวิกฤตหนักยิ่งขึ้น
ดร.ฉวีวรรณ ยังฝากวอนไปยังรัฐบาลและนักการเมืองว่า ถึงเวลาแล้วที่จะหยุดใช้ชีวิตคนมาเล่นการเมือง เพราะวันนี้ประชาชนรู้ทันหมดแล้วเนื่องจากคนไทยมีการศึกษามากขึ้น อีกทั้งการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ ก็สะดวกและสื่อถึงกันได้ง่าย วันนี้รัฐบาลจึงควรที่จะพูดความจริงกับประชาชนโดยเฉพาะในเรื่องการจัดหาวัคซีน และไม่ควรปล่อยให้ทั้งผู้ประกอบการและประชาชนหาทางรอดกันเองอย่างที่เป็นอยู่