ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ แนะรัฐลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดภาระผู้ประกอบการ ดึงราคาเนื้อหมู-ไก่ไม่ให้พุ่งไกลกว่าที่เป็นอยู่ ชี้วิกฤตโควิด-19 ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง 40% ปัจจัยทำผู้ผลิตรายย่อยหยุดการผลิตจนเนื้อสัตว์ขาดแคลน # ดร.ฉวีวรรณ คำพา # เศรษฐกิจไทยปี 65 #วิกฤตเนื้อสัตว์แพง
นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่ฯ แนะรัฐลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ลดภาระผู้ประกอบการ ดึงราคาเนื้อหมู-ไก่ไม่ให้พุ่งไกลกว่าที่เป็นอยู่ ชี้วิกฤตโควิด-19 ต้นทุนอาหารสัตว์พุ่ง 40% ปัจจัยทำผู้ผลิตรายย่อยหยุดการผลิตจนเนื้อสัตว์ขาดแคลน
วันนี้ (6 ธ.ค.) ดร.ฉวีวรรณ คำพา นายกสมาคมส่งเสริมการเลี้ยงไก่แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และประธานกรรมการบริหารบริษัทในเครือฉวีวรรณ ผู้ส่งออกเนื้อไก่รายใหญ่ของไทยได้ออกมาแสดงความมั่นใจถึงการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวได้หากรัฐบาลเร่งแก้ไขปัญหาที่ฉุดรั้งการส่งออกโดยเฉพาะการขาดแคลนตู้สินค้า และสายการเดินเรือที่มีผลต่อการส่งสินค้าจากไทยไปยังประเทศคู่ค้า
โดยเฉพาะเนื้อไก่ ที่ยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่ปัญหาคือผู้ผลิตไม่สามารถส่งออกสินค้าได้ทันเวลาจากการไม่มีสายการเดินเรือขนส่งสินค้า อีกทั้งราคาตู้คอนเทนเนอร์ยังพุ่งสูงจากหลักหมื่นถึง 400,000 บาทต่อตู้ จนเป็นปัญหาต่อภาพรวมการส่งออกในปี 64 ที่น่าจะเติบโตได้มากกว่าแสนล้านบาท
“เมื่อดูจากความต้องการเนื้อไก่ไทยในตลาดโลกปี 2564 ที่หลายประเทศต้องประกาศล็อกดาวน์จนจำเป็นต้องสั่งซื้ออาหารจากประเทศผู้ผลิตและโรงงานที่ได้มาตรฐาน พบว่ามีเป็นปริมาณมากมาย แต่เรากลับโตไม่ได้เพราะปัญหาการขาดแรงงาน และการไม่สามารถส่งสินค้าไปต่างประเทศเพราะไม่มีเรือและไม่มีตู้ขนส่งสินค้าที่นอกจากจะหายากแล้ว ราคายังแพงขึ้นทุกวันจนทำให้การส่งออกล่าช้าและทำให้ผู้ผลิตต้องสต๊อกสินค้าจำนวนมาก จึงต้องถามไปยังการท่าเรือแห่งประเทศไทย และท่าเรือแหลมฉบังว่าเหตุใดราคาตู้สินค้าจึงพุ่งสูงเช่นนี้ และเรื่องนี้ถือเป็นปัญหาที่รัฐบาลจะต้องแก้ให้ได้ในปี 65 นี้ เพราะไม่เช่นนั้นผู้ค้าและผู้ส่งออกเสียโอกาสในการแข่งขัน”
ดร.ฉวีวรรณ ยังเผยถึงปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์เนื้อไก่ไทยในปี 64 ยังคงอยู่ที่ปริมาณ 90,000-100,000 ตัน และมีมูลค่ารวมมากกว่า 100,000 ล้านบาท ซึ่งเกิดจากปัจจัยบวกเรื่องค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงในช่วง 2 เดือนก่อนสิ้นปี
และในปี 65 นี้อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ที่รัฐบาลจะต้องแก้ให้ได้คือ ราคาวัตถุดิบในการประกอบอาหารสัตว์ที่พุ่งสูงถึง 40% จนกลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่พุ่งสูงจนทำให้ผู้เลี้ยงหมูและไก่หลายรายที่ไม่มีสายป่านทางการเงินต้องหยุดระบบการผลิตจนเป็นที่มาของการขาดแคลนเนื้อหมูและไก่
“ยิ่งตอนนี้เจอปัญหาโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่ทำให้ภาคธุรกิจเกรงว่าหากเกิดการระบาดใหญ่รัฐบาลอาจประกาศล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจที่เริ่มขยับหยุดชะงัก สิ่งนี้ขอยืนยันว่าการล็อกดาวน์ไม่ช่วยแก้ปัญหาอะไร แต่ประชาชนจะต้องมีสติในการดำเนินชีวิตและดูแลตัวเองให้ดี รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจต้องทำงานอย่างรอบคอบ เพียงเท่านี้เราก็จะผ่านวิกฤตการระบาดครั้งใหญ่ได้”
แนะรัฐลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ดึงราคาเนื้อไก่-หมู
ดร.ฉวีวรรณ ยังแนะแนวทางในการแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่งสูงว่า รัฐบาลควรลดภาษีนำเข้าวัตถุดิบที่ใช้เลี้ยงสัตว์ ทั้งกากถั่ว ข้าวโพด และวัตถุดิบอื่นๆ เพื่อลดต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการมีกำลังในการเลี้ยงหมูและไก่อีกครั้ง หลังในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาวิกฤตโควิด-19 ได้ก่อให้เกิดภาวะเงินเฟ้ออย่างหนักจนทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กจำนวนมากต้องหยุดกระบวนการผลิตหลังเกิดปัญหาราคาเนื้อสัตว์ตกต่ำในช่วงก่อนหน้า
แต่เมื่อโรงงานหลายแห่งเริ่มกลับเข้าสู่กระบวนการผลิตอีกครั้งกลับต้องเจอกับปัญหาราคาอาหารสัตว์แพง โดยเชื่อราคาเนื้อหมูและเนื้อไก่ที่พุ่งสูงขึ้นจะเป็นเช่นนี้ไปจนถึงช่วงเทศกาลตรุษจีน
“แม้จะเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แต่ฉวีวรรณกรุ๊ป ยังคงระบบการผลิตได้กว่า 100,000 ตัวต่อวัน เพราะยังมีออเดอร์จากต่างประเทศ และมียอดการส่งออกไปยังยุโรป อังกฤษ จีน ญี่ปุ่น และมาเลเซียมากถึง 80% ส่วนภายในประเทศเรายังคงผลิตสินค้าป้อนให้กลุ่มลูกค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์ในลักษณะต่างๆ แต่บางโรงงานที่ไม่ได้ส่งออกจำเป็นต้องลดกำลังผลิตลง เพราะในช่วง 2 เดือนก่อนหน้านี้ราคาไก่ตกต่ำอย่างหนัก ซึ่งสินค้าเกษตรหากผู้ประกอบการขาดทุนมากราคาก็ตกต่ำ เมื่อสินค้าขาดตลาดราคาจะพุ่งขึ้น ดังนั้น ในปีนี้สิ่งที่ขอฝากไปยังรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์คือ การแก้ไขปัญหาเรื่องต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันกับประเทศอื่นๆ ได้” ดร.ฉวีวรรณ กล่าว